คำพิพากษาฎีกาแพ่ง ปี 2544 และ 2545 ที่น่าสนใจ
1. คำพิพากษาฎีกาที่ 291/2544 (ม.224 ผิดนัด , ม.349 แปลงหนี้ใหม่)
จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน ยังมิได้ชำระหนี้ การที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้แปลงหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงเป็นหนี้ใหม่ โจกท์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขายลดและในตั๋วสัญญาใช้เงินได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย
2. คำพิพากษาฎีกาที่ 878/2544 (ม.880 ประกันภัย รับช่วงสิทธิ)
จำเลยทำสัญญาบริการรักษาความปลอดภัยกับบริษัทอ.โดยยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท อ. ในกรณีที่ทรัพย์สินสูญหายเนื่องจากการโจรกรรม ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินของบริษัท อ. สูญหายไปเนื่องจากการโจรกรรม จำเลยจึงต้องรับผิดต่อบริษัท อ. ตามสัญญา เมื่อทรัพย์สินที่สูญหายเป็นทรัพย์สินที่บริษัท อ. ได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ และโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท อ. ไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท อ. เรียกร้องเอาจากจำเลย ตามสัญญาบริการรักษาความปลอดภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880
3. คำพิพากษาฎีกาที่ 1246/2544 (ม.383 เบี้ยปรับ , ม.391 เลิกสัญญา)
การที่ธนาคารโจทก์บอกเลิกสัญญาทรัสต์รีซีท เพื่อให้จำเลยนำเงินค่าสินค้า ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไปแล้ว คืนโจทก์ทันทีพร้อมดอกเบี้ย เป็นผลเพียงให้สัญญา ทรัสต์รีซีทสิ้นสุดลง ส่วนความผูกพันในเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญาที่ล่วงมาแล้วก่อนบอกเลิกสัญญายังคงมีเหมือนเดิม กรณีไม่อาจนำเรื่องการกลับคืนสู่ฐานะเดิมมาใช้บังคับ
สัญญาทรัสต์รีซีท ที่ให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลย ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์เรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารโจทก์ มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนความเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตามสัญญา ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้
4. คำพิพากษาฎีกาที่ 1958/2544 (ม.1615 สละมรดก)
การสละมรดก หมายถึง การสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้มรดกที่สละนั้นตกได้แก่บุคคลอื่นใด เพราะมิเช่นนั้นแล้วบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1615 วรรคสอง จะไม่มีผลบังคับ ดังนั้น หนังสือที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำขึ้นโดยมีเจตนาจะไม่รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยจะยกให้ ด. ผู้เดียว จึงมิใช่เป็นการสละมรดก ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
5. คำพิพากษาฎีกาที่ 2039/2544 (ม.1469 สัญญาระหว่างสามีภริยา)
บันทึกที่โจทก์จำเลยทำขึ้น แม้จะมีข้อความว่าโจทก์และจำเลยตกลงหย่ากัน แต่ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนหย่าก็ต้องถือว่าเป็นสามีภริยากันอยู่ เมื่อข้อตกลงนั้นมีส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินด้วย จึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยา หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยาก็ได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 1469 การที่จำเลยยื่นคำให้การว่าบอกเลิกข้อตกลงแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างไปในตัว ในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่ จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยอีก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแก่โจทก์ได้
6. คำพิพากษาฎีกาที่ 2711/2544 (ม.155 เจตนาลวง)
โจทก์จำเลยเจตนาทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาก ไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพากที่ทำกันไว้ สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์จำเลย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้โดยสัญญาขายก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสอง และมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะ โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยโจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย จำเลยต้องคืนที่ดินที่พิพาทให้โจทก์
7. คำพิพากษาฎีกาที่ 2702/2544 (ม.728 บังคับจำนอง , ม.745 อายุความ)
โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระคลาดเคลื่อนไป แต่จำเลยก็มีสิทธิที่จะโต้แย้งจำนวนเงินดังกล่าวได้ จึงไม่เป็นเหตุให้การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบ
จำเลยจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ของบุคคลอื่น การที่หนี้ดังกล่าวขาดอายุความ และจำเลยสละประโยชน์แห่งอายุความ เป็นกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 745 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนฟ้องย้อนหลังไปมีกำหนด 5 ปี
8. คำพิพากษาฎีกาที่ 5801/2544 (ม.1382 ครอบครองปรปักษ์)
จำเลยครอบครองและได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่ก่อน แต่เมื่อ ส. ขออกโฉนดที่ดิน จำเลยไม่ได้คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ ส. ที่ดินตามโฉนดที่ดินซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดิน คือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 เป็นต้นไป ต่อมามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของโจทก์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 เนื่องจากโจทก์ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ซึ่งยังไม่ถึง 10 ปี เมื่อโจทก์เป็นบุคคลภายนอกได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การครอบครองปรปักษ์ที่มีอยู่ก่อนนั้นจึงสิ้นไป แม้จำเลยครอบครองต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้วันที่ 7 มิถุนายน 2539 ยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามมาตรา 1382
9. คำพิพากษาฎีกาที่ 5897/2544 (ม.241 สิทธิยึดหน่วง)
จำเลยจ้างโจทก์ทำเพลทแม่พิมพ์หลายครั้ง แต่ในการจ้างแต่ละครั้งสามารถแยกออกจากกันได้ หนี้ค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำเพลทแม่พิมพ์ครั้งที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เกี่ยวกับการว่าจ้างครั้งที่ 4 และไม่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยเพลทแม่พิมพ์ตามสัญญาจ้างครั้งที่ 4 ที่โจทก์ยึดถือไว้ ทั้งหนี้ค่าจ้างทำเพลทแม่พิมพ์ครั้งที่ 4ก็ยังไม่ถึงกำหนดชำระ เนื่องจากโจทก์ให้เครดิตแก่จำเลยเป็นเวลา 90 วัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงเพลทแม่พิมพ์ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ได้ การที่โจทก์ยึดเพลทแม่พิมพ์ไว้จึงถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
10. คำพิพากษาฎีกาที่ 6449/2544 (ม.315 ผู้รับชำระหนี้ , ม.656 ชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น)
ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 นับแต่วันดังกล่าวทายาทย่อมหมดอำนาจจัดการทรัพย์มรดกและกระทำนิติกรรมใดๆกับบุคคลภายนอก โจทก์ทั้นที่มีอำนาจรับชำระหนี้เงินกู้ยืมแทน ป. จำเลยโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยร่วมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540 แม้จำเลยร่วมจะเป็นทายาทของ ป. ก็ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้แทน ป. ประกอบกับการโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม ไม่มีการคิดเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งที่ดินในวันที่จดทะเบียนอันเป็นการส่งมอบ ขัดกับ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคหนึ่ง และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคท้าย จึงไม่ทำให้หนี้เงินกู้ระงับ
11. คำพิพากษาฎีกาที่ 7203/2544 (ม.1605 กำจัดมิให้รับมรดก)
จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาโดยรับมรดกจากบิดามารดา และดำเนินการออกโฉนดที่ดินโดยเปิดเผย หลังจากที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนชื่อตนเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของตน ย่อมเป็นเรื่องปกติของผู้เป็นมารดายกทรัพย์อันเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทรุ่งถัดไปของตนตามประเพณีนิยมทั่วไป เพราะจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นสิทธิของตนที่จะได้ทรัพย์มรดก ไม่มีความมุ่งหมายที่จะยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก การที่ทายาทคนใดประกาศขายที่ดินมรดก หากมีความเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินนั้นแล้ว ก็ย่อมไม่ใช่การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จึงไม่ถูกกำจัดมิให้ได้มรดก
12. คำพิพากษาฎีกาที่ 8153/2544 (ม.387 เลิกสัญญา)
หนังสือสัญญาจะซื้อขายกำหนดแต่เพียงเวลาให้จำเลยชำระเงินค่าซื้อบ้านพิพาทส่วนที่เหลือ แต่มิได้กำหนดวันเวลาให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทแก่จำเลย ทั้งตามหนังสือทวงถมให้จำเลยชำระค่าซื้อบ้านพิพาทส่วนที่เหลือและบอกเลิกสัญญาโจทก์ กำหนดระยะเวลาให้จำเลยชำระเงินค่าซื้อบ้านพิพาทส่วนที่เหลือ มิได้กำหนดระยะเวลาที่โจทก์จะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลย จำเลยย่อมมีอำนาจที่จะไม่ชำระราคาค่าบ้านพิพาทส่วนที่เหลือแก่โจทก์ จนกว่าโจทก์จะกำหนดเวลาที่โจทก์จะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 จะถือว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาที่โจทก์กำหนดอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 387 หาได้ไม่
13. คำพิพากษาฎีกาที่ 8587/2544 (ม.241 สิทธิยึดหน่วง , ม.354 คำเสนอ , ม.378 มัดจำ , ม. 386 เลิกสัญญา , ม.391 ผลของการเลิกสัญญา)
โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ และโจทก์ได้รับมอบรถยนต์แล้ว จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อความในแผ่นปลิวโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อรถยนต์ ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขในข้อเสนอขายของจำเลย โดยส่งมอบโทรศัพท์มือถือ และทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ ทั้งต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท ท. แต่จำเลยละเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ให้ถูกต้องครบถ้วน ทั้งยังนำรถยนต์กลับไปไม่ส่งคืนให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ตามสัญญาซื้อขาย จึงเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขาย ทั้งฟ้องคดีนี้ จึงถือได้ว่าสัญญาซื้อขายรถยนต์เลิกกันโดยปริยาย อันมีผลให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องส่งคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ตามมาตรา 378(3)
โจทก์จองซื้อรถยนต์ตามข้อเสนอเชิญชวนให้จองซื้อรถยนต์โดยทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยแล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจตามแผ่นปลิวโฆษณาว่า จำเลยต้องส่งมอบโทรศัพท์มือถือ และจัดทำประกันภัยรถยนต์ให้แก่โจทก์ทันทีที่ตกลงทำสัญญาซื้อขาย มิใช่เป็นเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายกันอีก เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทันทีที่โจทก์จองซื้อรถยนต์
จำเลยนำรถยนต์ที่ซื้อขายคืนมาจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อเพื่อตรวจเช็คสภาพตามเวลาและระยะทาง แต่ไม่ส่งมอบคืนให้โจทก์ หนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยรถยนต์ซึ่งครองอันจะก่อสิทธิแก่จำเลยที่จะยึดหน่วงรถยนต์ไว้ ต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเท่านั้น หนี้เงินดาวน์ส่วนทีเหลือของโจทก์ที่ต้องชำระแก่จำเลย มิใช่หนี้ที่จะก่อให้เกิดสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ได้
14. คำพิพากษาฎีกาที่ 8587/2544 (ม.680 ค้ำประกัน)
สัญญาค้ำประกันการทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ขอทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่บริษัท ส. และบริษัทในกลุ่มบริษัท ก. ทุกบริษัท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากบริษัท ส. ให้ย้ายไปปฏิบัติงาน มีความหมายว่าจำเลยที่ 2 จะค้ำประกันจำเลยที่ 1 แก่บริษัท ส. และเฉพาะแก่บริษัทในกลุ่มบริษัท ก. ทุกบริษัทซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่แล้วในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเท่านั้น เมื่อในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ก. ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างของโจทก์ สัญญาค้ำประกันก็หาได้ครอบคลุมถึงโจทก์ด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
15. คำพิพากษาฎีกาที่ 8727/2544 (ม.1387 ภาระจำยอม)
ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น อันเรียกว่า สามานยทรัพย์ การที่จำเลยเป็นเจ้าของตึกแถวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่อยู่ติดทางพิพาท แต่จำเลยใช้ทางพิพาทวางสินค้าเพื่อจำหน่ายในกิจการค้าของจำเลย เป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยโดยเฉพาะ มิได้
ฏีกา ให้ไป้ร์จ้า ...
เกี่ยวกับประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของ ภาระจำยอมจึงไม่อาจเกิดมีขึ้นได้
16. คำพิพากษาฎีกาที่ 9221/2544 (ม.193/14 รับสภาพหนี้ , ม.349 แปลงหนี้ใหม่)
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้เป็นการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้และวิธีการชำระหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับ หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ ยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ด้วยก็ตาม เพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง
17. คำพิพากษาฎีกาที่ 520/2545 (ม.823 ตัวแทน)
ตามสัญญาจ้างจัดทำงานระบบไฟฟ้าและสื่อสารระหว่างโจทก์จำเลย ตอนท้ายของสัญญาลงลายมือชื่อ อ. แม้จะไม่ปรากฏว่า อ. เป็นกรรมการของบริษัทจำเลย หรือได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ทำสัญญาจ้างดังกล่าวก็ตาม แต่การที่จำเลยยอมรับงานที่โจทก์ดำเนินการตามสัญญาจ้างโดยสั่งจ่ายเช็คชำระเงินให้แก่โจทก์ และเมื่อเช็คดังกล่าวไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จำเลยก็เสนอให้โจทก์รับชำระหนี้ด้วยบ้านและที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกรรมการของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการยอมรับและให้สัตยาบันแก่การนั้น ย่อมผูกพันจำเลยในฐานะตัวการซึ่งได้ว่าจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างแล้ว
18. คำพิพากษาฎีกาที่ 1112/2545 (ม.374 สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก , ม.406 ลาภมิควรได้ , ม.861 ประกันภัย)
กรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อบรรษัท ง. เป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งผู้รับประโยชน์หาต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 863 ไม่ กรณีเช่นนี้เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ซึ่งบรรษัท ง. จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนหากเกิดวินาศภัยต่อเมื่อได้แสดงเจตนาว่าจะขอเข้ารับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยต่อโจทก์แล้วตามมาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์จะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทันที เมื่อบรรษัท ง. มิได้แสดงเจตนาเป็นผู้รับประโยชน์ จึงยังไม่มีสิทธิใดๆตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อสิทธิของบรรษัท ง. ยังไม่บริบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาประกันภัยย่อมเป็นผ็รับประโยชน์ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 861 การที่จำเลยได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา 406
19. คำพิพากษาฎีกาที่ 1156/2545 (ม.155 เจตนาลวง)
ขณะที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับขายฝากที่ดินขากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่านิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเจตนาลวง จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น โจทก์จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากได้ เมื่อการขายฝากมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน จำเลยที่ 2 โดนให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขายต่อให้จำเลยที่ 4 นิติกรรมการให้และการซื้อขายก็ไม่อาจเพิกถอนเช่นเดียวกัน
ตอบกลับแบบอ้างข้อความ