ฎ.3146/2533
ท. ทายาทของเจ้ามรดกคนหนึ่งเคยฟ้องจำเลยขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทอีกคนหนึ่งมาฟ้องคดีนี้ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับเดียวกันนั้นเป็นโมฆะอีกเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ท. เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอันจะถือว่ากระทำในฐานะตัวแทนทายาททั้งหมดรวมทั้งโจทก์ด้วยแล้วโจทก์ย่อมไม่ใช่โจทก์คนเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน.
ฎ.6641/2548
คดีก่อน ศ. พี่สาวโจทก์ทั้งสอง ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กรณีจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้ ม. บิดาโจทก์ทั้งสองและ ศ. ถึงแก่ความตาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ โดยปรากฏว่า ศ. ฟ้องในฐานะเป็นบุตรผู้ตายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ สำหรับค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ของทายาท ม. ผู้ตาย ทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองด้วย ส่วนค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่ได้รับความเสียหาย และตามคำฟ้องคดีก่อนไม่ปรากฏข้อความว่า ศ. ฟ้องแทนโจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองแก่ ศ. ก็เป็นการพิพากษาโดยไม่ชอบไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองซึ่งมิใช่เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว เมื่อได้ความจากคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่าขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้ ม. บิดาโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตายขอให้ชดใช้ค่าปลงศพ ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ อันเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีก่อนที่ ศ. ฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา คดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ในเรื่องเรียกค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) และได้ความว่า ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่ ศ. ตามคำฟ้องแล้ว อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เรื่องเดียวกับคดีนี้แล้ว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ได้เฉพาะค่าขาดไร้อุปการะเท่านั้น ส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้รถในกิจการของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับนั้น ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ของผู้ตายหรือไม่ เพียงใด ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อนที่ ศ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ฎ.5487/2550
ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้น มีโจทก์ 3 คน คือ โจทก์ในคดีนี้ ห. และ ส. ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ พ. โดยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในโฉนดที่ดินพิพาทที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการเรียกเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยเพื่อมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่มีการบรรยายความเป็นมาว่าจำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างไรเพื่อตัดสิทธิจำเลยมิให้รับมรดกด้วย สถานะของโจทก์ในคดีทั้งสองจึงแตกต่างกัน และประเด็นแห่งคดีทั้งสองก็แตกต่างกันด้วยฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้น
แม้รายการในสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินพิพาทจะเป็นเอกสารมหาชนก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น โจทก์สามารถนำพยานเข้าสืบหักล้างได้ว่าความจริงเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ พ. นั้นจึงหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. ไม่
ฎ.6066/2546
คดีแพ่งเรื่องก่อนพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ท. โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนเวลาที่อยู่ในสมณเพศ จำเลยคดีนี้ยื่นคำคัดค้านว่าเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุ ท. ที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศตกเป็นสมบัติของวัดจำเลย จึงมีประเด็นว่า พระภิกษุ ท. ได้ทรัพย์สินมาก่อนเวลาที่อยู่ในสมณเพศหรือไม่และเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์หรือไม่ ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยกล่าวอ้างทำนองเดียวกันกับคดีก่อน แม้คดีก่อนพนักงานอัยการจะเป็นผู้ร้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้อยู่แล้วให้พนักงานอัยการร้องขอแทน จึงถือได้ว่าเป็นการร้องขอแทนโจทก์ เมื่อคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทย่อมถือได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง (1)
ฎ.1577/2548
คดีก่อนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยพนักงานอัยการในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ในกรณีที่โจทก์คดีนี้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารจากจำเลย โดยชำระเงินจองและผ่อนชำระราคาไปแล้ว ขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ได้ชำระไปตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารรายเดียวกันอีก จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาโจทก์ในคดีก่อนจะขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอตัดรายชื่อโจทก์คดีนี้จากคำฟ้อง ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์คดีนี้ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นกลับเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
ฏีกาอีกเรื่องหนึ่งอยากให้เปรียบเทียบ 279/2551
คดีก่อนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฟ้องคดีแทนผู้บริโภคทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินกับจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ในคดีนี้มิใช่ลูกค้าหรือผู้ซื้อบ้านและที่ดินในโครงการของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่ผู้บริโภคที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนได้ฟ้องคดีแทน กรณีจึงไม่อาจถือว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ด้วย ย่อมไม่ไช่คู่ความรายเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 และ 173 วรรคสอง (1)
ฎ.991/2529
โจทก์ในคีดนี้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และเรียกให้จำเลยที่1ใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา43,44,47ย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวซึ่งมีคดีส่วนแพ่งปนอยู่ด้วยและโจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีส่วนแพ่งตามคำพิพากษานั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา249,253อยู่แล้วโจทก์จะรื้อฟื้นคดีส่วนแพ่งนั้นมาฟ้องใหม่โดยเรียกค่าดอกเบี้ยเพิ่มเติมในคดีนี้อีกย่อมเป็นฟ้องซ้ำอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา148
ฎ.696/2542
คดีแพ่งเรื่องนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลอมใบรับน้ำมันแล้ว นำใบรับน้ำมันปลอมไปขอรับน้ำมันจากสถานีคลังน้ำมันของโจทก์โดยไม่ชอบ รวมเป็นเงินค่าน้ำมันทั้งสิ้น 724,239.38 บาทขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน946,037.69 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 724,239.38 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาและคำขอโจทก์ในคดีอาญาเรื่องก่อนคือการคืนหรือให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์ ซึ่งเป็นคำขอส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับ คดีอาญาที่ศาลในคดีอาญามีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษา ได้และเมื่อศาลในคดีอาญาได้รับคำขอส่วนแพ่งของโจทก์ ดังกล่าวไว้พิจารณาโดยชอบแล้วย่อมมีผลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือศาลอื่นอีก ศาลจึงไม่อาจรับวินิจฉัยคำขอเรื่องดอกเบี้ย ในคดีนี้ได้ แม้ในส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์มิได้มีคำขอในคดีอาญา ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนี้เป็นดอกผลที่เกิดตามเงินต้นตามกฎหมายการฟ้องร้องในคดีแพ่งเรื่องนี้ที่ขอบังคับจำเลยในส่วนดอกเบี้ยจึงอาศัยและพึงต้องฟ้องมาในคราวเดียวกับเงินต้นจึงต้องห้ามตามคำฟ้องในส่วนเงินต้นด้วย