การประกันจำเลยในชั้นศาล
การประกันตัวชั้นศาล คือ การขอให้ปล่อยจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลเป็นการชั่วคราวหากมีการฟ้องเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดแล้วต้องยื่นคำร้องขอประกันต่อศาลที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกฟ้อง
ผู้มีสิทธิยื่นขอคำประกัน
1. บิดาหรือมารดา
2. ผู้ปกครอง ญาติ หรือผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็กหรือเยาวชน
3. นายจ้าง หรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่
การประกันตัวชั้นศาล
การขอประกันตัวในชั้นศาลมี 2 ช่วง ช่วงแรก เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาลและศาลอนุญาตให้ขังซึ่งถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุมของศาลแล้ว
ช่วงที่สอง คือช่วงที่ศาลประทับฟ้องของโจทก์ ผู้ต้องหามีสถานะเป็นจำเลยซึ่งต้องถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของศาล
ดังนี้ หากผู้ประกันประสงค์จะขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณา แล้วแต่กรณีต่อศาล
กำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ประกันมีดังนี้
ชั้นสอบสวน มีกำหนดเวลาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ฝากขังจนกระทั่งมีการฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ชั้นพิจารณาของศาล สัญญาประกันใช้ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวโดยศาล ผู้ประกันสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกันได้ดังนี้
1. การใช้หลักทรัพย์เป็นประกัน
- เงินสด
- ที่ดิน มีโฉนด น.ส.3 ก ซึ่งมีหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน ซึ่งไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี - ห้องชุดมีโฉนดที่ดิน และมีหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และต้องไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี
- หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้เช่น พันธบัตรรัฐบาล, สลากออมสิน, สลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร, สมุดเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารซึ่งจะต้องมีใบรับรองยอดเงินฝากของธนาคารด้วย ฯลฯ
2. การใช้บุคคลเป็นประกัน ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น
- ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ
- สมาชิกรัฐสภา
- ผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่น
- สมาชิกสภาท้องถิ่น
- พนักงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
- พนักงานรัฐวิสาหกิจ
- ลูกจ้างของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
- ผู้บริหารพรรคการเมือง
- ทนายความ
และเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย ได้แก่
- บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติ พี่น้อง
- ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง
- บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส
วงเงินที่มีสิทธิทำสัญญาประกัน คือ ไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือน
หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอประกันตัว
- บัตรประชาชน บัตรข้าราชการ หรือบัตรแสดงตำแหน่งหน้าที่การงาน ทะเบียนบ้านของจำเลยและผู้ประกันพร้อมสำเนา
- หลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3 ก เงินสด บัญชีเงินฝาก
- หนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้าง (กรณีขอประกันด้วยตำแหน่งหน้าที่)
- หนังสือรับรองราคาประเมิน (กรณีใช้โฉนดที่ดิน น.ส.3 ก)
- หนังสือรับรองจากธนาคาร (กรณีใช้สมุดเงินฝากธนาคาร)
- หลักฐานการยินยอมของคู่สมรส พร้อมสำเนาบัตรประชาชน บัตรข้าราชการและทะเบียนบ้านของคู่สมรส (กรณีผู้ประกันมีคู่สมรส)
- ทะเบียนบ้านของบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ในความเป็นญาติ ระหว่างผู้ต้องหาหรือจำเลย และ ผู้ประกัน
หลักเกณฑ์การสั่งคำร้องขอประกันของศาล
เมื่อยื่นคำร้องขอประกันแล้ว ศาลจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ประกอบในการพิจารณาสั่งคำร้อง คือ
1. ความหนักเบาแห่งข้อหา
2. พยานหลักฐานที่นำสืบแล้วมีเพียงใด
3. พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
4. เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
5. ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
6. ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด
7. คำคัดค้านของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ
การสั่งคำร้องขอประกันของศาล
1. มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวในทันที โดยศาลจะกำหนดทุนทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันว่า หากผิดสัญญาจะต้องเสียค่าปรับเพียงใด
2. มีคำสั่งให้หาประกันหรือหลักประกันเพิ่มเติม กรณีนี้เป็นเรื่องที่ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามคำร้องขอฝากขังหรือคำฟ้องแล้วเห็นสมควรว่าหลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันนั้นไม่เพียงพอ ก็จะมีคำสั่งให้นำหลักทรัพย์มาเพิ่มเป็นจำนวนตามที่กำหนด
3. มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว กรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ร้องขอประกันมีสิทธิ ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ดังนี้ - คำสั่งของศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ - คำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ....