การบังคับคดีแพ่ง
ในการบังคับคดีแพ่ง ศาลต้องออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงาน กรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นใด เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อจัดการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(14) เจ้าพนักงานบังคับคดีหมายถึงเจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ในส่วนกลาง เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี มีอำนาจบังคับคดีในเขตอำนาจของศาล ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยกเว้นศาลจังหวัดมีนบุรี
ในส่วนภูมิภาค เจ้าพนักงานบังคับคดีของสำนักงานงานบังคับคดีจังหวัด สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสาขา เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีของสำนักงานบังคับคดีจังหวัด นั้น
เดิมเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานของศาล เมื่อศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีอย่างใดแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตามจะอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลไม่ได้ แต่ปัจจุบันเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี สังกัดกระทรวงยุติธรรมจึงไม่ใช่เจ้าพนักงานศาล (ทั้งนี้ตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ราชกิจจานุเบกษา 11 ตุลาคม 2540 ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม กำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นหน่วยงานธุรการอิสระของศาลยุติธรรม แต่มิได้กำหนดให้กรมบังคดีเป็นหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรม ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 103 ก วันที่ 13 พฤศจิกายน 2543) จึงจะใช้สิทธิคัดค้านหรืออุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลได้หรือไม่
อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
1. อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือกักเรือของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนศาลจะมีคำพิพากษา เช่นนี้ศาลจะออกหมายยึดทรัพย์ชั่วคราว หมายกักเรือ ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดทรัพย์สินหรือเรือของจำเลยไว้ เพื่อไม่ให้จำเลยยักย้ายถ่ายทรัพย์สิน
2. อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีอันเป็นการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดแพ้คดี และให้ฝ่ายแพ้คดี(ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)ปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งตามฟ้อง หากเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยการบังคับคดีชำระหนี้เอาจากบรรดาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี (เจ้าพนักงานตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อจัดการอายัดทรัพย์สิน ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกขายทอดตลาด และเอาเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือหากการชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้นเป็นการส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการ งดเว้นกระทำการหรือขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจะออกหมายบังคับคดีได้โดยการกำหนดเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีลงในหมายนั้น และกำหนดการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้ทำได้โดยทางศาลหรือโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคท้ายอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
1. กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกรณีศาลในคดีอาญามีคำสั่งให้ปรับนายประกันจำเลย ฐานผิดสัญญาประกันที่ทำไว้ต่อศาล โดยศาลจะออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจัดการยึดทรัพย์สิน ซึ่งนายประกันยื่นเป็นหลักประกันต่อศาล แล้วนำออกขายทอดตลาดนำเงินชำระค่าปรับ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119)
2. กฎหมายอาญา กรณีตามประมวลหมายอาญา มาตรา 29 ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ดังนี้ศาลจะออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจัดการยึดทรัพย์สิน ของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินชำระค่าปรับ
3. พระราชบัญญัติล้มละลาย ในทางปฏิบัติและระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะบังคับคดีกับทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ในคดีล้มละลายเองหรืออาจมีบันทึกเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดแทน
ประเภทของการบังคับคดี
ในการออกหมายบังคับคดี ศาลจะระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีตามที่ระบุไว้ในมาตรา 213 แห่ง ปพพ. และจะกำหนดสภาพแห่งการบังคับคดีเพี่ยงเท่าที่เปิดช่องให้กระทำทางศาลหรือโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี
1. การยึดทรัพย์
2. การอายัดทรัพย์
3. การขายทอดตลาด
4. การบังคับคดีขับไล่ , รื้อถอน
5. อื่น ๆ เช่นการห้ามชั่วคราว การห้ามทำนิติกรรม จำหน่าย จ่าย โอน
การยึดทรัพย์
การยึดทรัพย์มีอยู่ 4 ลักษณะดังนี้คือ
1. การยึดทรัพย์ตามความหมายบังคับคดีรวมถึงการยึดทรัพย์ตามหมายยึดทรัพย์ชั่วคราว ทั้งนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามที่ศาลสั่งมาโดยเฉพาะเจาะจง จะยึดทรัพย์อื่นไม่ได้
2. การยึดทรัพย์ข้ามเขตอำนาจศาล
3. การยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีของศาลอื่น เป็นการบังคับคดีแทน
4. การยึดทรัพย์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครแทนศาลต่างจังหวัด
สังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้น ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่การบังคับคดี ได้แก่
1. เครื่องใช้สอยส่วนตัว เช่นที่นอน เครื่องใช้ครัวเรือน รวมกันเป็นเงินไม่เกิน 5,000 บาท หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาประสงค์จะได้รับการยกเว้นเกินกว่าที่กำหนด ต้องไปร้องต่อศาล
2. ทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีไว้ใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องใช้ต่าง ๆ ดังนี้กฎหมายกำหนด ยกเว้นให้ในจำนวนเงิน 10,000 บาท หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาประสงค์จะใช้เครื่องมือเครื่องใช้ใดที่มีจำนวนเงินเกินกว่าที่กำหนด ต้องไปร้องต่อศาล
3. ทรัพย์สินที่มีไว้ใช้แทนอวัยวะ ต่าง ๆ เช่น แขนขาเทียม
4. ทรัพย์สินที่เป็นของวงศ์ตระกูล เช่น สมุด หนังสือประจำตระกูล เป็นต้น
การอายัดทรัพย์
ตามลักษณะการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีมี 2 กรณี คือ
1. การอายัดสิทธิร้องขอให้ชำระเงิน จำนวนหนึ่งหรือเรียกว่าการอายัดเงิน
2. การขอให้งดหรือห้ามจำหน่าย จ่ายโอน หรือ ทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือเรียกว่า การอายัดห้ามโอน
การบังคับคดีในการฟ้องขับไล่ รื้อถอน
เมื่อศาลมีคำสั่งให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ครอบครองทรัพย์ ดังกล่าว
1. กรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกศาลพิพากษาให้ขับไล่ หรือต้องออกไปจากที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง
2. กรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง
การจำหน่ายทรัพย์
การขายทอดตลาดทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี ต้องตรวจสำนวนก่อนว่ามีการปฏิบัติตามขั้นตอน ที่ ป.วิ.พ. มาตรา 303 และมาตรา 304
1. ได้มีการแจ้งการยึดทรัพย์ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และผู้ที่มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287
2. ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ได้มีการแจ้งให้นายทะเบียนทราบ
ในการบังคับคดีนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจตามหมายบังคับคดีของศาลที่มีเขตอำนาจที่สำนักงานบังคับคดีตั้งอยู่เท่านั้นอย่างไรก็ตาม หากมีการร้องขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจในการบังคับคดีแทนตามหมายบังคับคดีที่ออกโดยศาลอื่นได้เช่นกัน .....